- April 27, 2023
- Posted by: Konica Minolta
- Category:
หลังจากที่ซื้อเครื่องพิมพ์ดิจิตอลมาใหม่และใช้งานไปสักระยะหนึ่ง สิ่งที่ผู้ใช้หลายคนอาจหลงลืมกันไปก็คือเรื่องของการดูแลรักษา เพราะการใช้งานเครื่องพิมพ์อย่างหนักในทุกวัน โดยที่ไม่ได้ดูแล อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและยังอาจทำให้เครื่องมีอายุการใช้งานที่สั้นลงอีกด้วย ขอชวนมารู้จักกับวิธีดูแลเครื่องพิมพ์ที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อยืดอายุการใช้งานและรักษามาตรฐานของงานพิมพ์ให้คงที่มากที่สุด
5 ขั้นตอนดูแลเครื่องพิมพ์ดิจิตอลง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง
1. การบำรุงรักษาเครื่องประจำวัน
การทำความสะอาด ถือเป็นการดูแลรักษาเครื่องพิมพ์ดิจิตอลขั้นพื้นฐานที่ควรทำเป็นประจำในทุกวัน ทั้งในส่วนภายนอกและภายใน ได้แก่ กระจกสำหรับสแกน และชุดทางเดินกระดาษ โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นการปัดฝุ่นและเฝ้าระวังไม่ให้มีสิ่งสกปรกเข้ามาอุดตัน เพราะอาจเป็นการขัดขวางการทำงานของเครื่อง จนทำให้เกิดปัญหาระหว่างการพิมพ์ และยังทำให้งานพิมพ์ออกมาไม่ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็นอีกด้วย ซึ่งการทำความสะอาดเบื้องต้นนั้นก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เตรียมอุปกรณ์ 2 อย่าง ได้แก่ แอลกอฮอล์ที่เหมาะสำหรับทำความสะอาดโดยเฉพาะ และผ้าขนนุ่มสำหรับเช็ด จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในคู่มือของเครื่องพิมพ์แต่ละรุ่นได้เลย
2. ปรับการตั้งค่าตำแหน่งภาพพิมพ์
การปรับการตั้งค่านี้ เป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำของงานพิมพ์หน้า-หลัง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปลี่ยนวัสดุพิมพ์และไม่ได้ตั้งค่าในส่วนนี้ อาจทำให้งานพิมพ์หน้า-หลัง ออกมาไม่ตรงตำแหน่ง ไม่ได้สัดส่วนตามที่ต้องการ ดังนั้นในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประเภทของวัสดุพิมพ์จากแบรนด์อื่น ๆ ที่มีขนาดและน้ำหนักแตกต่างจากเดิม หรือสัดส่วนการพิมพ์หน้า-หลังยังไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ให้เราเข้าไปตั้งค่าและลงทะเบียนประเภทวัสดุพิมพ์ที่ต้องการใช้งานก่อนทุกครั้ง เพื่อลดปัญหาจากการพิมพ์ที่อาจทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากร
3. การ Calibration ค่าสีก่อนพิมพ์
อีกหนึ่งวิธีดูแลเครื่องพิมพ์ดิจิตอลที่เราควรให้ความสำคัญ ก็คือการ Calibration หรือการตรวจสอบและควบคุมค่าสีของเครื่องพิมพ์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน วิธีนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนสั่งพิมพ์ ช่วยให้ได้งานที่มีคุณภาพสูง และได้ค่าสีที่ถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด สามารถทำได้ทุกการพิมพ์ตั้งแต่ 1,000-2,000 แผ่นขึ้นไป
4. การปรับค่าความเข้มของสี
การปรับตั้งค่าความเข้มของสี หรือ Density Balance Adjust เป็นการปรับตั้งค่าเพื่อลดปัญหาความเข้มของสีในแนวระนาบไม่เท่ากัน เป็นวิธีดูแลเครื่องพิมพ์ดิจิตอลที่ควรทำทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประเภทของวัสดุพิมพ์เช่นเดียวกับการตั้งค่าตำแหน่งภาพพิมพ์ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วงานพิมพ์ที่ออกมาอาจมีความเข้มของสีที่ไม่สม่ำเสมอกันตลอดทั้งหน้า จนต้องสั่งพิมพ์ใหม่ ทำให้เสียเวลาในการรับงานมากขึ้น และยังสิ้นเปลืองทั้งวัสดุพิมพ์ทั้งหมึกพิมพ์อีกด้วย
5. เตรียมสภาพแวดล้อมห้องพิมพ์
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่ช่วยให้ได้งานพิมพ์ที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีที่จะช่วยดูแลรักษาเครื่องพิมพ์ดิจิตอลให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน นั่นก็คือการควบคุมอุณหภูมิภายในห้องพิมพ์ให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส และ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้อยู่ในช่วงประมาณ 40-60% สำหรับอากาศในประเทศไทย เพื่อให้สีของงานพิมพ์ระหว่างทำการพิมพ์ มีความเสถียรมากที่สุด
และทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ก็คือการดูแลรักษาเครื่องพิมพ์ดิจิตอลที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองในทุกวัน แต่หากพบปัญหาใด ๆ ในระหว่างการใช้งาน สามารถปรึกษา Konica Minolta ได้เลย ด้วยบริการหลังการขายที่ได้มาตรฐาน ทีมช่างผู้เชี่ยวชาญของเราพร้อมดูแลและให้คำแนะนำอย่างตรงจุด
สามารถติดต่อเราเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ โทร. 02-029-7000